
วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม (May day)
วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม (May day)
1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ วันกรรมกรสากล ถือเป็นวันหยุดตามประเพณีประจำปี เป็นวันหยุดแรงงานของสากล (May day) เป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานไทย เป็นวันที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานรอคอย เพราะทุกๆ ปี จะมีการจัดงานมหกรรมฟรีคอนเสิร์ตเฉลิมฉลอง ให้ไปเที่ยวชมฟรี ตลอดงาน ว่าแต่ทำไมต้องเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีนะ
เริ่มจากในสมัยก่อนประเทศแถบยุโรป ได้ถือเอาวันเมย์เดย์ เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ของผู้ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม จะมีพิธีเฉลิมฉลองและบวงสรวงขอพรให้ปลูกพืชได้ผลผลิตดี แม้กระทั่งประเทศทางตอนเหนือของยุโรปมีการจัดงานรอบกองไฟ และมีการสืบทอดต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน จากเดิมกำหนดให้เป็นเพียงวันหยุดพักผ่อนประจำปีของเกษตรกร ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศกำหนดเป็นวันหยุดตามประเพณีทั่วไป
สำหรับในประเทศไทย
พ.ศ. 2475 มีการจัดการบริหารแรงงานขึ้น รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดหางานประจำท้องถิ่น
พ.ศ.2477 เริ่มมีการจัดตั้งกองกรรมกรขึ้นมา ทำหน้าที่จัดหาแรงงานและศึกษาภาวะความเป็นอยู่ของคนงาน
พ.ศ.2499 รัฐบาลได้ขยายกิจการด้านแรงงานสัมพันธ์มากขึ้น
พ.ศ.2508 ได้มีการจัดตั้งกรมแรงงาน และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน
ปัจจุบันผู้ใช้แรงงาน อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
หน้าที่ความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
- จัดหางาน ด้วยความช่วยเหลือคนว่างงานให้มีงานทำ ช่วยเหลือนายจ้างให้มีคุณภาพในการทำงาน รวบรวมเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการทำงาน แหล่งงาน ภาวะตลาดแรงงาน
- งานแนะแนวอาชีพ ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนและผู้ประสงค์จะทำงาน เพื่อให้สามารถเลือกแนวทางการประกอบอาชีพเหมาะสมตามความถนัด ความสามารถทางร่างกาย คุณสมบัติ บุคลิกภาพ และความเหมาเหมาะสมต่อความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ
- การพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแก่คนงานและเยาวชนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ เช่น จัดโรงเรียนฝึกหัดอาชีพ อบรมอาชีพระยะสั้นวิธีเร่งรัด
- งานคุ้มครองแรงงาน วางหลักการ วิธีการเกี่ยวกับชั่วโมงทำงาน วันหยุดงาน ตลอดจนการจัดให้มีสวัสดิการต่างๆ
- งานแรงงานสัมพันธ์ทำการส่งเสริมและสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ขจัดข้อขัดแย้งโดย ประสานให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันถึงลักษณะและสภาพปัญหา หาวิธีการที่เหมาะสมที่จะช่วยขจัดความเข้าใจผิด
ด้านผู้ใช้แรงงาน (กรรมกร)
ได้จัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงาน และรวมกันตั้งสภาองค์การลูกจ้างขึ้น โดยทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน ปัจจุบันมีอยู่ 3 สภา คือ
1.สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย
2.สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย
3.สภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย
ส่วนประเทศที่มีการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงานดีที่สุดคือ สิงคโปร์ มีการวิจัยและพัฒนา เพิ่มศักยภาพยกระดับฝีมือแรงงานสม่ำเสมอทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านอิเล็คทรอนิคส์ เพราะผู้นำมีวิสัยทัศน์ และการคอรัปชั่นในประเทศน้อย
แรงงานไทยวันนี้ เหตุผลหนึ่งที่นักลงทุนมีความมั่นใจและตั้งฐานผลิตในประเทศไทย ผู้ใช้แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญ คนไทยมีฝีมือดี มีน้ำใจ มีความมุ่งมั่นในงานที่รับผิดชอบเป็นอย่างดี ถ้าระบบแรงงานมีความมั่นคงนั่นย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของครอบครัวของผู้ใช้แรงงาน และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้ วันนี้ในฐานะผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งอยากให้รัฐบาลมีการส่งเสริมให้มีการยกระดับฝีมือแรงงาน ถ้าแข่งขันด้านต้นทุนค่าแรง เราไม่สามารถสู้ประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะค่าแรงเขาถูกกว่ามาก สิ่งที่ทำได้คือต้องยกระดับขีดความสามารถของแรงงานไทย ยกระดับการผลิตโดยเน้นคุณภาพ มั่นใจแรงงานไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก