มาตรการ QE:นายเบน เบอร์นันเก้ แถลงการณ์ล่าสุดกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
มาตรการ QE : ภายหลังจากนายเบน เบอร์นันเก้ ออกแถลงการณ์ (20/6/56)
ภายหลังจากผลการประชุม”เฟด” ล่าสุด นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ ส่งสัญญานว่าเฟดอาจเริ่มลดขนาดการเข้าซื้อพันธบัตรในปลายปีนี้ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
- เฟด จะเริ่มชะลอโครงการซื้อพันธบัตรหรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปลายปีนี้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ และหากข้อมูลเศรษฐกิจยังคงออกมาสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ เฟดจะยังคงลดขนาดวงเงินซื้อพันธบัตรไปจนถึงช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า และคาดว่าจะสิ้นสุดโครงการซื้อพันธบัตรประมาณกลางปีหน้า
- เฟดยังคงเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ในวงเงินปัจจุบันที่ 85,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนกว่าแนวโน้มในตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยดังกล่าวพบว่าส่งผลให้ตลาดหุ้นราคาพันธบัตรร่วงอย่างหนักและหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน
- เศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราปานกลาง น่าจะส่งผลให้ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่แรงกดดันทางเศรษฐกิจลดน้อยลง และยังกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายเฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นเข้าใกล้าระดับเป้าหมายระยะยาวที่เฟดตั้งไว้ที่ 2%
- เฟดจะปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการคิวอี (QE) แสดงให้เห็นว่าเฟดมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นในความแข็งแกร่งและความยั่งยืนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐ
- เฟดคาดว่า จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราการเข้าซื้อพันธบัตรรายเดือนในช่วงต่อไปในปีนี้ และถ้าหากตัวเลขทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของเฟดในปัจจุบัน พร้อมกล่าวว่ายังคงปรับลดอัตราการเข้าซื้อลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า และจะยุติโครงการในช่วงกลางปีหน้า หากเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้น
- อัตราการว่างงานน่าจะลดลงจากระดับ 7.6% สู่ระดับใกล้ 7% เมื่อถึงเวลายุติโครงการเข้าซื้อพันธบัตร แต่เฟดก็แบ่งรับแบ่งสู้ว่าในอนาคตถ้าผลการคาดการณ์เป็นทางบวกมากเกินไป ก็อาจมีการปรับลดหรือเพิ่มอัตราการเข้าซื้อพันธบัตรได้อีกครั้ง
ผลกระทบภายหลังการแถลงการณ์ ของนายเบน เบอร์นันเก้ และผลกระทบต่อตลาดการเงิน-การลงทุน
– ตลาดการเงินทั่วโลก ตลาดหุ้นเอเชียร่วงลงตั้งแต่ช่วงเปิดตลาด รับข่าวคำแถลงการณ์ของนายเบน เบอร์นันเก้ โดยเฉพาะภาคการผลิตของจีนชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ในเดือนมิถุนายน ยอดสั่งซื้อใหม่หยุดชะงัก ชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจจีนชะลอตัวในไตรมาส 2
– ราคาพันธบัตรปรับตัวลง
– จะเกิดปรากฏการณ์ภาวะเงินทุนไหลออกไปยังตลาดสหรัฐ ส่งผลให้มีการปรับตัวในราคาสินทรัพย์ทั้งตลาดเงิน ตลาดหุ้น และพันธบัตร
– ราคาทองคำ / น้ำมัน ปรับตัวลดลง
– มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงเน้นนโยบายเดิม คือปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ปัจจุบันค่าความผันผวนของไทยอยู่ที่ 6.4% เป็นระดับเดียวกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค
ความเสี่ยงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
– ภาคธุรกิจที่มีธุรกรรมการค้ากับต่างประเทศมากๆ ทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนจากนี้ไป เชื่อว่าจะมีความผันผวนที่มากขึ้น
– เงินทุนไหลออก ถ้าไหลออกมากๆ มีผลก็เพราะว่าเมื่อเฟดลดสภาพคล่องของสหรัฐ ก็เท่ากับลดสภาพคล่องของโลกไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะจีนได้รับผลกระทบมาก
– จากเดิมต่างขาติเอาเงินมาลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรแบงค์ชาติ เป็นจำนวนมากก็เพราะหวังดอกเบี้ยสูงขึ้นดังนั้นจึงมีความเสี่ยงเงินไหลออก ส่งผลให้เศรษฐกิจตึงตัว และทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลด้านลบกับเศรษฐกิจไทย
– ดอกเบี้ยระยะยาวของไทยมีสิทธิเป็นขาขึ้น ค่าเงินบาทมีสิทธิอ่อนลง คาดว่าอาจอ่อนลงไปถึง 32 บาทต่อดอลล่าร์ได้