ปิดดีล จีอี ขายหุ้น ธนาคารกรุงศรีฯ ให้ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ(BTMU) ทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ตามต่อกับเรื่องเข้าซื้อหุ้น กิจการธนาคารกรุงศรีอยุธยา ของ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของธนาคาร “ แบงค์ ออฟ โตเกียว – มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ” ก็ได้ปิดดีลแล้วในที่สุด ตกลงในสัญญาซื้อหุ้นกับจีอีแคปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น (GECIH) จะทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของธนาคาร โดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer หรือ VTO) จำนวนทั้งสิ้น 6.074 พันล้านหุ้น ในราคา 39 บาท ต่อหุ้น และ GECIH จะขายหุ้นสามัญของธนาคารที่ถืออยู่จำนวน 1,538,365,000 หุ้น คิดเป็น 25.33% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ภายใต้กระบวนการ VTO (ราคาเดียวกันกับราคาเสนอซื้อที่กำหนดไว้) คาดว่าการดำเนินการตาม VTO จะเริ่มในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 และสิ้นสุดการดำเนินการในเดือนธันวาคม 2556
ทั้งนี้การดำเนินการตาม VTO จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเงื่อนไขต่างๆ ดังต่อไปนี้ได้รับการปฏิบัติครบถ้วนแล้ว
- การได้รับอนุมัติหรือผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังสำหรับการเข้าซื้อกิจการและขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างด้าวของธนาคารและการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
- การได้รับอนุมัติจาก Financial Services Agency ของประเทศญี่ปุ่นให้ BTMU มีธนาคารเป็นบริษัทย่อยของ BTMU
- การได้รับอนุมัติในหลักการจากกระทรวงพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
- การได้รับอนุมัติหรือการได้รับผ่อนผันอื่นใดที่จำเป็น จากหน่วยงานทางการที่กำกับดูแล
- การได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อหุ้น
บทวิเคราะห์
- ธนาคารแห่งโตเกียว – มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ เป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (Mitsubishi UFJ Financial Group : MUFG) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและนับว่าเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ให้บริการทางการเงินที่หลากหลายครบวงจร ส่วนธนาคารกรุงศริอยุธยาเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในประเทศไทย (ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 5) จุดเด่นคือมีความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญในธุรกิจการเงินเพื่อรายย่อยหรือกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี (SMEs)
- จับตาดูการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและธุรกิจทางด้านกลยุทธ์ภายหลังจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามา นับว่าเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่หลากหลายในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้แล้วยังมีความเป็นไปได้ที่จะถ่ายโอนกิจการของ The Bank of Tokyo Mitsubishi UFJ,Ltd. (BTMU) สาขากรุงเทพ มาที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อการดำเนินการตาม VTO เสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนั้น BTMU จะมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาแทนกลุ่ม GECIH
- คาดว่าภายหลังจากเข้าถือหุ้นของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จะสามารถใช้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาในการขยายงานในประเทศไทยได้ เพราะมีความสามารถในการเข้าถึงเงินทุน ราคาถูก เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน จะมีการขยายฐานเข้าสู่ภาคสินเชื่อ corporate โดยเฉพาะลูกค้าญี่ปุ่น ที่ว่ากันว่าเป็นจุดอ่อนของธนาคารกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบัน
- สำหรับกลุ่มรัตนรักษ์ จะยังเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มใหญ่ยังคงสัดส่วนในการถือหุ้นที่ 25% ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ BTMU จะไม่เกิน 75%
ทั้งนี้การแม้ว่าจะมีการประกาศดีลดังกล่าวออกมาแล้ว แต่ยังมีประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญของการทำ VTD คือการได้รับอนุมัติหรือผ่อนผันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะจากธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง (ประเด็นการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นต่างด้าว) ต้องติดตามกันต่อไป สำหรับนักลงทุนต้องรออีกระยะเวลา 6 เดือน จึงจะสามารถกำหนดแนวทางได้อาจต้องรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจใหม่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นอีกครั้ง