
วงจรบัญชีสำหรับกิจการก่อสร้าง (ตอน2)
วงจรบัญชีสำหรับกิจการก่อสร้าง
ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 11 (ปรับปรุง 2552) กำหนดไว้ว่า เมื่อกิจการสามารถประมาณผลของงานก่อสร้างตามสัญญาได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการต้องรับรู้รายได้ก่อสร้างและต้นทุนก่อสร้างเป็นรายได้และค่าใช้จ่าย โดยอ้างอิงกับขั้นความสำเร็จของงานก่อสร้าง ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ตามวิธีอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ (Percentage of completion) ถ้างานก่อสร้างที่มีระยะเวลานานกว่ารอบบัญชี มักจะดูความสำเร็จตามที่ทำจริงของงานก่อสร้าง ทีนี้มารู้ความหมายส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานบัญชีก่อสร้าง ว่ามีรายการอะไรบ้าง
การวัดมูลค่าของรายได้งานก่อสร้าง หมายถึง การวัดอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ หรือขั้นความสำเร็จของงานตามสัญญา และการวัดมูลค่าของรายได้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต เช่น ผู้ว่าจ้างตกลงดัดแปลงงาน แก้ไขแบบแปลนก่อสร้าง หรืออาจมีเหตุการณ์ที่กิจการส่งงานล่าช้าเป็นเหตุให้ต้องจ่ายค่าปรับที่เกิดจากการปฏิบัติงานก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จตามสัญญาทำให้รายได้ลดลง แต่ถ้าเหตุของความล่าช้าไม่ได้เกิดจากกิจการ เช่น ก่อสร้างไปแล้วไปติดอุปสรรค ก็ทำหนังสือขอสงวนสิทธิ์แจ้งหยุดงานไว้ก่อน แล้วเมื่อหน้างานพร้อม ก็ขอเริ่มงานใหม่ แล้วก็ขอขยายอายุสัญญา อย่างนี้ก็ไม่ส่งผลต่อรายได้ก่อสร้าง เป็นต้น
รายได้ค่าก่อสร้าง (Contract Revenue) หมายถึง การรับรู้รายได้โดยอิงกับขั้นความสำเร็จของงานก่อสร้างตามสัญญา โดยวัดจากผลงานก่อสร้างที่ทำได้จริง และจำนวนรายได้ตามที่ตกลงกันเมื่อเริ่มทำสัญญาก่อสร้างกัน วิธีการบัญชีกิจการจะต้องรับรู้รายได้ก่อสร้างเป็นรายได้ในกำไรหรือขาดทุนในงวดบัญชีที่ทำการก่อสร้าง การรับรู้รายได้ให้รับรู้ไม่เกินอัตราส่วนที่ของงานที่ทำเสร็จ หากกิจการรับเงินล่วงหน้าเกินกว่าอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จให้บันทึกเป็นเงินรับล่วงหน้าจากผู้ว่าจ้าง จนกว่าจะมีการส่งมอบงานหรือทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว จึงให้รับรู้จำนวนเงินดังกล่าวเป็นรายได้ทั้งจำนวน
ต้นทุนค่าก่อสร้าง (Contract Cost) หมายถึง ต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานก่อสร้างตามสัญญา หรือ ต้นทุนค่าก่อสร้างสินทรัพย์ คือ ค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ค่าแรงงาน ค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ก่อสร้าง ค่าเช่าเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง ค่าเช่าอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้าง ค่าเขียนแบบ ค่าเบี้ยประกันภัยก่อสร้าง ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเพื่องานก่อสร้าง ค่าดำเนินงานทั่วไป ค่าชดเชยค่าเสียหายบุคคลที่สาม เช่นระหว่างทำงานไปทำให้ทรัพย์สินบุคคลที่อยู่ใกล้ๆ ได้รับความเสียหาย และถ้ามีต้นทุนที่เกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมก่อสร้างที่ต้องทำในอนาคต (วัสดุอุปกรณ์ที่ซื้อมาตามบัญชีแสดงปริมาณวัสดุ และปริมาณแรงงานประกอบกับราคาที่ใช้ในการก่อสร้าง หรือ “BOQ” ) ให้ถือต้นทุนนี้ว่าเป็นต้นทุนงานระหว่างก่อสร้าง เป็นต้น
เมื่อได้งานสิ่งที่ต้องเตรียมคือ
- ออกรหัสงาน แต่ละงานเพื่อควบคุมต้นทุนงานและรายได้ สะดวกในการเรียกดูข้อมูล
- ทำประมาณการต้นทุนกำไรขั้นต้น (จาก BOQ)
- เปิดแฟ้มโดยแยกตามรหัสงาน/ชื่องาน เพื่อเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำดัชนีขั้นไว้ เช่น ส่วนหนังสือออก หนังสือเข้า รายงานการประชุม หนังสือส่งมอบงานกับใบแจ้งหนี้ สำเนาคู่สัญญากับผู้ว่าจ้าง สำเนาคู่สัญญากับผู้รับเหมา เป็นต้น