เก็บภาษีคนโสด
โสด โสด โสด อยู่ตรงนี้
ปฏิเสธไม่ได้เลย ข่าวที่มาแรงมากๆ คือข่าวนักวิชาการหนุนให้มีการ “เก็บภาษีคนโสด” เล่นเอาคนโสดทั้งหลายถึงกับนั่งไม่ติดกันเลยทีเดียว สืบเนื่องมาจากนักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้จัดอภิปรายหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและนโยบายการรับรองในสองทศวรรษหน้า ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงการเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน โครงสร้างประชากรไม่สมดุล และต้องเสียงบประมาณดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก หลังประชากรในวัยรุ่นวัยทำงานที่มีแนวโน้มเพิ่มต่ำลงสวนทางกลับกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มต่อเนื่อง โดยอัตราการเจริญพันธุ์ของไทยขณะนี้ต่ำมากเพียง 1.6 ต่อครอบครัว หรือ 1 คู่สมรส มีลูกเพียง 1 คนกว่าเท่านั้น ทั้งที่จริงต้องมีลูกขึ้นต่ำ 2-3 คน จึงจะเพียงพอต่อการทดแทนประชากรเดิมที่ตายไป จึงได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขว่าภาครัฐควรออกนโยบายสนับสนุนให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้น เช่น โครงการลูกคนแรก รวมถึงให้เงินอุดหนุนหรือลดภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูก 2 และ 3 คน นอกจากนี้ควรเรียกเก็บภาษีคนโสด ภาษีคนไม่มีลูก กระตุ้นให้มีครอบครัวเพื่อลดภาระงบประมาณ การใช้สวัสดิการดูแลของภาครัฐในอนาคต พูดง่ายๆ ก็คือ วางแผนจะให้ลูกหลานดูแลแทนที่จะเป็นภาระภาครัฐ
อาจจะด้วยเหตุผลที่สภาพแวดล้อม หน้าที่การงาน การแข่งขัน ความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และคนในปัจจุบันก็ติดเทคโนโลยีซะด้วย และแก่ช้า หรือไม่ยอมแก่ อีกทั้งสัดส่วนการเกิดระหว่างหญิงชาย ที่หญิงมากกว่าชาย ทำให้มีคนโสดเยอะขึ้น
ความจริงกรณีเก็บภาษีคนโสดปรากฏ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงครามมีการออกกฎหมายเก็บภาษีจากชายโสด เนื้อหาโดยรวมบังคับให้ชายไทยที่ไม่มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ 25 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 45 ปีบริบูรณ์ที่มีรายได้ตั้งแต่ปีละ 960 บาท ให้เสียภาษีเพราะยังเป็นชายโสดปีละ 5 บาท หรือร้อยละ 10 ของภาษีที่ต้องเสียแล้วแต่อัตราใดจะมากกว่ากันจะมากกว่ากัน ข้อยกเว้นคือ ถ้าชายโสดแสดงหลักฐานได้ว่า ตลอดปีภาษีที่ล่วงมา ไปบวชเป็นพระภิกษุ หรือมีบุตรที่ยังมีชีวิต หรือติดคุกอยู่ในเรือนจำ หรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือทำการสมรสไม่ได้โดยมีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริต หรือรับราชการทหารกองประจำการ หรือตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการ กฎหมายฉบับนี้บังคับในสมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ซึ่ง พระราชบัญญัติฉบับนี้ตราไว้เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2487 และถูกยกเลิกในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2487
ล่าสุดโฆษกกรมสรรพากร ได้ออกมาชี้แจงกรณีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละครั้งนั้น กรมสรรพากรจะเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกของผู้เสียภาษีและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย รวมถึงใช้เครื่องมือในการกระจายรายได้ หากผู้มีเงินได้สูงต้องเสียภาษีสูงในอัตราก้าวหน้า แต่ไม่เคยมีการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเพิ่มประชากรหรือลดภาระทางสังคมเพราะคงไม่ใข่หน้าที่หลักของระบบภาษีเป็นเครื่องของรัฐทางด้านเศรษฐกิจในการหารายได้ให้รัฐและส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า ทั้งนี้ยังกล่าวถึงข้อเสนอของนักวิชาการสรุปได้ว่า ข้อเสนอดังกล่าวขึ้นอยู่กับการเลือกของรัฐบาลว่าจะพิจาณานำมาศึกษาให้ชัดเจน ซึ่งยังเป็นแค่ข้อเสนอแนะ ไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล การพิจาณาแต่ละครั้งนั้น ต้องดูการจำแนกจากจำนวนผู้เสียภาษี 10 ล้านคน ว่าเป็นคนโสดหรือสมรสหรือไม่ และมองว่าการตัดสินใจมีบุตรหรือเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่ ปัจจัยด้านภาษีคงไม่ใช้ปัจจัยหลัก แต่อยู่ที่ความสามารถในการเลี้ยงดูมากกว่า ขณะที่คนโสดหากมีเงินได้ มีการวางแผนการเงินที่ดี มีการออมเงินสะสมไว้เพียงพอกับการใข้จ่ายในยามชราก็ไม่เป็นภาระแก่สังคม
การออกมาชี้แจงของโฆษกกรมสรรพากร ครั้งนี้ก็ตอบคำถามคนโสดได้แล้วว่า โครงสร้างระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยังไม่มีการปรับปรุงแต่อย่างใด ได้ยินคนแถวๆ นี้ถอนหายใจโล่งอก หลังจาก ค่าไฟฟ้า ค่าทางด่วน ค่าก๊าซหุงต้ม ไข่ไก่ อาหารจานเดียว เริ่มปรับราคาตามซ้ำเติมมนุษย์เงินเดือนอยู่แล้ว ขอร้องเถอะค่ะอย่าให้ต้องร้องเพลง ขอบคุณที่ซ้ำเติม จุดเดิมที่เคยเจ็บ….
ขอขอบคุณข้อมูลจาก บจก.สำนักกฏหมายแสงนิติ