
วันภาษาไทยแห่งชาติ ทำไมต้องเป็นวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี
สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนโลโก้ Google เช้าวันนี้ เกิดขึ้นเนื่องในโอกาส “วันภาษาไทยแห่งขาติ” ทำไมจึงมีการกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ไปดูพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ
เหตุการณ์
- ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕o๔ ทรงเปิดการอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” เหตุการณ์นั้นได้แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทย เป็นที่ประทับใจผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง
- เนื่องในวันเฉลิมพระชนพรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและองค์กรเอกชนเข้าเฝ้า ได้ทรงย้ำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยและพระราชทานแนวคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ อีกทั้งยังเป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย นั่นคือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต และบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้
- คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เห็นชอบให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
การมี “ วันภาษาไทยแห่งชาติ” มีผลดีอย่างไร
ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติ เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ สมควรได้รับการทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป จากการที่เทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเกิดเทคนิคใหม่ๆ ในการติดต่อสื่อสาร คนส่วนใหญ่ใช้การแชท ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่มีให้เลือกมากมาย เร่งรีบพิมพ์จนเกิดภาษาแปลกๆ ตามมา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน การพูดคุยกันน้อยลง ทั้งนี้หากไม่เร่งรีบป้องกันและแก้ไข ภาษาไทยก็จะยิ่งเสื่อมลง การที่มี “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ก็คาดว่าจะมีผลดีคือ
- จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาได้มีการจัดกิจกรรมกระตุ้นเตือน เผยแพร่ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป เห็นความสำคัญของ “ภาษาไทย” ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ จะได้ร่วมมือกันอนุรักษ์ให้งดงามและคงอยู่ตลอดไป
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทย เช่นครูสอนภาษาไทย วงการสื่อสารมวลชน ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้องและเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทยให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
- การที่มีการจัดกิจกรรม “วันภาษาไทยแห่งชาติ” อย่างต่อเนื่องทุกปี คาดว่าจะส่งผลให้มีความตื่นตัว ร่วมกันส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทยให้ดำรงอยู่ตลอดไป
พิมพ์บทความนี้ก็อดคิดถึงหนังสือเรียนมานีมานะไม่ได้มีประโยชน์มากๆ อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้ลองกลับไปอ่านบ้างจัง สำหรับการอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยนั้น ทุกคนสามารถช่วยกันได้นะคะโดยการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เช่นการพิมพ์แชท สื่อสารกันอย่างถูกต้องและถูกกาลเทศะไม่โอนอ่อนตามกระแส บ่องตงปวดหัวมันคืออัลไล!